สถานีวิทยุ วปถ.2 เชียงใหม่ ระบบ Am Stereo 738 KHz

 
 

 ประวัติความเป็นมาสถานีวิทยุ วปถ.2 เชียงใหม่ ระบบ AM Stereo ความถี่ 738 KHz 

            สถานีวิทยุ วปถ.2 เชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499  ตั้งอยู่เลขที่ 285 ถนนกองทราย ต.วัดเกตุ  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่ เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของเชียงใหม่ สถานีวิทยุ วปถ.2 เชียงใหม่ เป็นสถานีวิทยุขึ้นตรงต่อกองการวิทยุกระจายเสียงวิทยุประจำถิ่น (ปัจจุบันกองการสื่อสาร) กรมการทหารสื่อสาร กรุงเทพฯ สาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อตั้งสถานีวิทยุ วปถ.2 ขึ้น คือ หลังจากทำการทดลองการถ่ายทอดการออกอากาศในการติดตามความเคลื่อนที่ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมพระสกนิกรในพื้นที่ภาคอีสาน เมื่อปี พ.ศ.2497 แล้วปรากฏว่าประชาชนให้ความสนใจรับฟังการทดลองการออกอากาศในครั้งนั้นมาก พ.อ.สาลี่ ปาละกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการวิทยุกระจายเสียงประจำถิ่นขณะนั้นจึงได้ริเริ่มทำการออกอากาศที่สำนักงานกองการกระจายเสียงวิทยุประจำถิ่น (ปัจจุบันกองการสื่อสาร) กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง บางซื่อ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2497 โดยใช้เครื่องในสายงานของทหารมาทำการดัดแปลงเพื่อทำการส่งออกอากาศโดยใช้ชื่อนามสถานีว่า “ วสส.1” บางซื่อพระนคร

          จากการทำการทดลองออกอากาศนับว่าได้ผลดี มีสถิติของผู้รับฟังเป็นจำนวนมากเพราะจำนวนสถานีวิทยุในขณะนั้นมีน้อย พ.อ.สาลี่ ปาละกุล จึงได้มีนโยบายที่จะขยายกิจการการกระจายเสียงไปยังส่วนภูมิภาคโดยมุ่งมาที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นอันดับแรก เพราะโดยปกติจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดงานประจำปีที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดดึงดูดความสนใจของประชาชนทั่วไปเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มโหฬารได้แก่ งานฤดูหนาว งานสงกรานต์ และงานลอยกระทง ทำให้เกิดการท่องเที่ยวของประชาชนทั่วทุกภาค ตลอดจนความงามของธรรมชาติและดินฟ้าอากาศ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการทดลองทำการกระจายเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2497 โดย พ.อ.สาลี่ ปาละกุล โดยทำการส่งเจ้าหน้าที่มาทำการทดลองถ่ายทอดออกอากาศในงานฤดูหนาวแล้ว ปรากฏว่า ได้รับความสนใจและการต้อนรับจากส่วนราชการ พ่อค้าและประชาชนอย่างที่คาดไม่ถึงจนได้รับการเรียกร้องให้ทำการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับสปอนเซอร์จากร้านค้าภายในงานฤดูหนาว และร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก เมื่อได้รับการเรียกร้องจากประชาชนชาวเชียงใหม่และได้สอดคล้องกับนโยบายของ พ.อ.สาลี่ ปาละกุล ซึ่งมีอยู่เดิมแล้วจึงยอมรับมติของส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนเชียงใหม่ โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการทดลองออกอากาศด้วยเครื่องส่ง 32 อาร์ 9 กำลังส่งออกอากาศ 75 วัตต์ ภายหลังจากงานฤดูหนาวปี พ.ศ. 2497 เสร็จสิ้นลง ใช้สถานีที่ทดลองออกอากาศในค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อทดลองออกอากาศได้ผลดีและมีผู้รับฟังสนใจ แต่รัศมีของการออกอากาศยังไม่ไกลเท่าที่ควร จึงได้นำเครื่องส่ง บีซี.620อี.(ทำการดัดแปลง) ซึ่งมีกำลังส่งออกอากาศ 350 วัตต์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 โดยใช้ชื่อสถานีว่า “วสส.2” ด้วยความถี่ 985 กิโลเฮิร์ท และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อสถานีมาเป็นสถานีวิทยุ วปถ.2 เมื่อ พ.ศ.2502 สาเหตุเพราะชื่อสถานี “วสส.2” ไปคล้ายกับสถานีวิทยุกระจายเสียงของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีชื่อว่า วศษ. และทำการส่งกระจายเสียงเป็น 3 ภาค คือ

                                                     ภาคเช้าเวลา             05.30 น.  ถึง 10.00 น.

                                                     ภาคกลางวัน             10.30 น.  ถึง 15.00 น.

                                                     ภาคเย็น                   16.30 น.  ถึง 21.00 น.

        จากการทำการส่งกระจายเสียงยิ่งได้รับความสนใจจากส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนมากขึ้นตามลำดับ จึงได้รับการสนับสนุนเครื่องส่งที่มีกำลังส่งออกอากาศสูงขึ้นกว่าเดิมอีก 2 เครื่อง คือ

                                              เครื่องส่งคลอลีน     ขนาด   500 วัตต์       เมื่อ พ.ศ.2502

                                              เครื่องส่งอาร์ซีเจ     ขนาด   1 กิโลวัตต์     เมือ พ.ศ.2502

แล้วทำการเปลี่ยนเวลาออกอากาศใหม่เป็นเวลา 04.00 ถึง 24.00 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

        จากการที่ทำการทดลองออกอากาศแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องสร้างอาคารของสถานีเป็นอาคารถาวร และมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับส่วนราชการ พ่อค้า และประชาชนที่มาติดต่อราชการ ประสานงานและชมกิจการของสถานีอยู่เนือง ๆ พ.อ.สาลี่ ปาละกุล จึงได้ติดต่อกับ พ.อ.ประเสริฐ  เสนานิคม ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงใหม่ในขณะนั้นเพื่อขอสร้างอาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ณ บัดนี้ โดยได้รับความเห็นชอบและอนุมัติตามข้อเสนอ และทำการก่อสร้างเสร็จ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2504 และในเวลาต่อมาจากดำริของ พ.อ. เฉลิม กรัณยวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสื่อสารวิทยุประจำถิ่นว่าทางราชการมีนโยบายในการต่อต้านภัยคุกคาม และการตอบโต้ทางการกระจายเสียงของฝ่ายตรงข้าม จึงได้ส่งเครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ มาทำการติดตั้งและแล้วเสร็จทำการออกอากาศได้ตั้งแต่วันที่ 29  มิถุนายน พ.ศ.2509  เป็นต้นมา

 

******************************


Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  33,483
Today:  9
PageView/Month:  450

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com